วิธีการถนอมเกียร์รถออโต้

การถนอมเกียร์รถออโต้
Categories:

          สาวๆ หรือหนุ่มๆ หลายคนก็คงจะชื่นชอบในรถเกียร์อัตโนมัติ ที่ทำให้มีความสะดวกสบายในการขับขี่มากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทรถยนต์ก็เร่งพัฒนาระบบเกียร์อัตโนมัติเพื่อนำออกมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคตั้งแต่รถเก๋งขนาดเล็กไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เพราะ เกียร์ธรรมดา บอกเลยว่าอาจจะไม่เหมาะกับกับสภาพการจราจรที่ติดหนักมากที่ต้องมาเหยียบครัช เหยียบเบรก

          เกียร์อัตโนมัติ หรือ เกียร์ออโต้ นั้น มีทั้งระบบส่งกำลังแบบ Torque Converter หรือคลัตซ์ไฟฟ้าแม้แต่แบบ CVT จะมีคุณสมบัติต่างๆ ที่ดีขึ้น แต่ความทนทานสู้ เกียร์ธรรมดาไม่ได้เลย ชุดเกียร์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่รับแรงจากเครื่องยนต์แล้วส่งไปที่ล้อเท่านั้น เพราะเกียร์เป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ช่วยให้เราขับเคลื่อนรถ ถ้าไม่มีชุดเกียร์จะส่งผลให้เครื่องยนต์เผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และสิ้นเปลืองน้ำมัน รถทุกคันล้วนมีหน้าปัดบอกความเร็วรอบเครื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับหน้าปัดรอบเครื่องจะช่วยให้เราเข้าใจชุดเกียร์ได้มากขึ้น ส่วนใหญ่แล้ว เกียร์ออโต้ พังมักจะเกิดจาก การใช้งานที่ไม่ถูกต้อง แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้ารู้จักการใช้งานของ เกียร์ออโต้ ที่ถูกต้อง วันนี้นำเอาวิธีการที่จะถนอมเกียร์อัตโนมัติที่จะทำให้ไม่พังง่ายๆ มาฝาก

  1. เหยียบเบรกก่อนรถจะเคลื่อนที่ การที่เราเริ่มจากตำแหน่งหยุดนิ่งไปสู่ตำแหน่งขับเคลื่อน จะช่วยให้ระบบส่งกำลังไม่เกิดการกระชาก ระบบเกียร์จะทำงานได้อย่างไหลลื่น เป็นการถนอมชุดเฟืองเกียร์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันโดยตรงต่อการสึกหรอของ ระบบเกียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ระบบเกียร์ ใหม่ๆ อย่าง CVT ซึ่งมีความเปราะบางด้านกลไกมาก และที่สำคัญอย่าเร่งรอบเครื่องยนต์สูง แล้วออกตัวแรง พูดได้เลยว่าทำแบบนี้เกียร์พังแน่นอน
  2. ไม่คิกดาวน์บ่อยจนเกินไป การคิกดาวน์ (Kickdown) คือ การเหยียบคันเร่งให้ลึกกว่าปกติเพื่อเพิ่มความเร็วอย่างเร่งด่วน มักใช้ในกรณีเร่งแซงหรือหลบหลีกสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย การคิกดาวน์บ่อยๆ จะมีผลทำให้ชุดเกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ เพราะชุดเกียร์ต้องรับแรงบิดที่เพิ่มขึ้นกะทันหันอยู่บ่อยครั้ง ทางที่ดีควรคิกดาวน์เมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น การขับขี่ปกติควรค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้นไปจะดีกว่า
  3. ใช้เบรกมือเวลาจอดบนทางลาดชัน ส่วนใหญ่มักจะใส่เกียร์ P เวลาจอดรถบนทางลาดชัน ป้องกันไม่ให้รถไหล แต่วิธีที่ดีเวลาจอดรถบนทางลาดชันควรใช้เบรกมือควบคู่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะหลีกเลี่ยงไม่ให้สลักเกียร์ต้องรับน้ำหนักรถมากเกินไปนั่นเอง ส่วนวิธีจอดรถบนทางลาดชันที่ถูกต้อง คือ หลังจอดรถเสร็จเรียบร้อย อย่าเพิ่งใส่เกียร์ P ในขณะที่เท้าของคุณยังอยู่ที่แป้นเบรกให้ทำการดึงเบรกมือขึ้นจนสุด จากนั้นจึงค่อยๆ ปล่อยเท้าออกจากแป้นเบรก จนมั่นใจได้ว่ารถจอดหยุดนิ่งไม่ไหลแล้ว จึงทำการผลักตำแหน่งเกียร์ไปยัง P
  4. เปลี่ยนน้ำมันเกียร์อยู่เสมอ น้ำมันเกียร์เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยหล่อลื่นและปกป้องชุดเกียร์ เมื่อใช้ไปนานๆเข้า ก็จะเกิดความเสื่อมสภาพ อาจมีเศษตะกอนค้างอยู่ในอ่างน้ำมันเกียร์ ซึ่งเกิดจากการเสียดสีเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามกำหนดที่ระบุไว้ในคู่มือ แต่หากรถรุ่นใดระบุว่าไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตลอดอายุการใช้งาน ก็ให้ตั้งระยะเวลาเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ด้วยตัวเองประมาณ 40,000 – 60,000 กิโลเมตรแทน